วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โบราณสถานเตาโอ่งอ่าง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

Clip เตาโอ่งอ่าง



        โบราณสถานเตาโอ่งอ่างอยู่ด้านหน้าวัดสิงห์ ซึ่งบริเวณนี้ได้ขุดค้นพบซากเตาเผาโบราณ ที่เรียกว่าโบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ซึ่งถือเป็นหลักฐานของการตั้งชุมชนมอญที่อพยพมาจากเมืองเมาะตะมะสมัยแรกใน บริเวณนี้ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ในยุคปลายกรุงศรีอยุธยา
ที่เตาโบราณแห่งนี้พบตุ่มสามโคก หม้อ ไห โอ่ง อ่าง ซึ่งมีลักษณะเด่นเป็นภาชนะบรรจุที่ขนาดใหญ่ เนื้อแกร่ง หนา สีแดง ไม่เคลือบผิว ซึ่งผลิตจากเตาแหล่งนี้ เตาสามโคกมีบทบาทหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี ๒๓๑๐ ต่อเนื่องมาถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวรามัญเมืองสามโคกได้เลิกร้างการผลิตไป โดยส่วนใหญ่ย้ายการผลิตไปที่ เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรีแทน เหลือเพียงโรงงานปั้นตุ่มสามโคกของนายคำนวณ เป็นคำ ที่ยังอยู่ที่สามโคก

           เตาโอ่งอ่าง ตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และริมคลองบ้านทาสข้างวัดสิงห์ เป็นเนินโคกเตาเผาสามโคกตั้งเรียงรายกันโคกที่สามถูกรถไถเกรดเนินโคกเตาไปทำถนนจนหมดคงเหลือเพียงสองโคก เนินเตาที่หนึ่งมีพื้นที่กว้างประมาณ ๓๐๐ ตารางวา มีต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นมะขาม ก้ามปู และปีบ ขึ้นโดยรอบบนเนินโคกเตาเต็มไปด้วยเศษอิฐและภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เช่น โอ่ง อ่าง ครก เนินโคกเตาที่สอง อยู่ห่างจากเนินโคกเตาหนึ่ง ประมาณ ๕๐ เมตร ใกล้กับคลองบ้านทาสเนินโคกเตาที่สองนี้ถูกถนนตัดผ่าน จึงเหลือเพียงส่วนเดียวพบแนวอิฐโครงสร้างเตาและเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาอยู่โดยทั่วไป การขุดค้นทางโบราณคดีที่เตาเผาตุ่มสามโคก โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี องค์การบริหารส่วนตำบลสามโคกได้ร่วมกับสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปกร ได้ทำการขุดแต่งเตาเผาตุ่มโคกเตาเผาที่หนึ่งเพื่อนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติ โบราณคดี เมื่อเดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ผลการขุดแต่งพบซากโครงสร้างเตาปรากฏอยู่บนเนินเตา ๑ เตา ลักษณะเป็นเตาก่อขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยาในแนวทิศเหนือและทิศใต้ ลักษณะเตาเป็นเตาแบบระบายความร้อนผ่านแนวนอนมีรูปร่างเตาคล้ายเรือคว่ำหรือมะละกอผ่าซีกก่อด้วยอิฐ

        หลังจากขุดแต่งเสร็จแล้วได้จัดทำหลังคาคลุมเนินโคกเตาป้องกันน้ำฝนซะล้างทำลายกำแพงเตา ปรับบริเวณด้านข้างเตาที่ติดกับถนนจัดทำโป๊ะศาลาน้ำสำหรับเรือนักท่องเที่ยวทางน้ำแวะมาชมและจัดทำถนนทางเข้าสู่เตาเผาตุ่มสามโคก เตาเผาตุ่มสามโคกเป็นเตาเผาที่ชนชาติมอญที่อพยพมาครั้งกรุงศรีอยุธยาและมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคกได้ก่อตั้งเพื่อเผาเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่ายเป็นสินค้าทางเรือมีทั้ง ตุ่ม อ่ง ครก หม้อ กระปุก และพระพุทธรูป ภาชนะที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ "ตุ่มสามโคก" ตุ่มดินเผาเนื้อดินสีแดงดังสีหมาก ใส่น้ำดื่มตามบ้านเรืนทั่วไป

       วันนี้เตาเผาตุ่มสามโคกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหาความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองสามโคกที่น่าชมและน่าศึกษาอย่างยิ่ง




1 ความคิดเห็น:

  1. ขอข้อมูลอ้างอิง จากผู้เรียบเรียงบทพูดทั้งหมดด้วยหน่อยได้ไหมคะ

    ตอบลบ